Environmental Art ศิลปะในสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ พิมพ์
สาระความรู้
วันพุธที่ 05 สิงหาคม 2009 เวลา 20:58 น.

ผลงานของ Andy Goldsworthy: Castres and London Plane Leaves, 1988 และ
ผลงานของ Richard Harris: Cliff Structure, 1978

 

ตัวอย่างผลงานประติมากรรมจากวัสดุธรรมชาติ จัดวางกระจายไปทั่วพื้นที่ของอุทยานป่า Grizedale ที่มีพื้นที่กว่าเก้าพันเอเคอร์ ใน Lake District National Park ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการเป็นเขตป่า และทะเลสาบที่สวยงามของอังกฤษ เป็นที่ดึงดูดกวี และศิลปินที่มีชื่อเสียงเข้าไปแสวงหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานของตนเอง ปัจจุบันพื้นที่ป่าแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา สามารถเข้าไปสัมผัสความงามทางธรรมชาติ ควบคู่กับความงามของงานประติมากรรมที่มีความสอดคล้องกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมของป่าเป็นอย่างดี ภายใต้โครงการ “Grizedale Forest Sculpture Project” ซึ่งอยู่ในความดูแลของ Grizedale Arts

 

Bill Grant ผู้ก่อตั้งโครงการประติมากรรมในอุทยาน Grizedale กล่าวถึงการทำงานของศิลปินในโครงการนี้ว่า ความสำคัญของโครงการนี้อยู่ที่การตอบสนองของศิลปินต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และการได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในพื้นที่ ศิลปินที่มาทำงานในโครงการนี้จะมีอิสรภาพ และเวลาในการสร้างสรรค์งานอย่างเต็มที่ โดย Grizedale Arts จะให้ความสำคัญต่อความเป็นปัจเจกบุคคลของศิลปิน ที่จะตอบสนองต่อการมีประสบการณ์ตรงในสิ่งแวดล้อมของป่า และผู้คนในพื้นที่ (Davies,ใน Grant and Harris (eds.), 1991: 19) ศิลปินหลายคนที่ได้เข้ามาทำงานในโครงการนี้ ได้พัฒนาผลงานจนเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก

Richard Harris เล่าถึงประสบการณ์ในการสร้าง Cliff Structure ว่า ผลงานสร้างสรรค์ของเขาเกิดจาก การตอบสนองต่อความรู้สึกที่มีต่อสิ่งแวดล้อมของป่า Grizedale เขาจะเก็บเศษไม้ และหิน มาสร้างเป็นประติมากรรมโดยใช้เทคนิควิธีการแบบเดียวกับที่ชาวบ้านใช้ในการก่อสร้าง และทำเครื่องมือต่างๆ ผลงานที่ได้จึงมีความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ งานศิลปะลักษณะนี้จะเปลี่ยนสภาพไปตามธรรมชาติเมื่อได้รับผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศ จนถึงขั้นที่ย่อยสลายลงสู่ความเป็นธรรมชาติตามเดิม ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะสร้างความน่าสนใจ หรือความฉงนสนเท่ห์ต่อผู้พบเห็นแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นศิลปะที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยแท้จริง ตัวอย่างของความประทับใจ และการจุดจินตนาการให้แก่ผู้ได้ชมผลงานจะเห็นได้จาก การสร้างผลงานชิ้นเล็กๆ ของผู้เข้ามาชมป่าที่ผลิตจากเศษวัสดุในป่าเช่นกัน ในบริเวณที่ใกล้กับงานศิลปะของศิลปิน

 

ตัวอย่างผลงานชิ้นเล็กๆ ของผู้เข้ามาชมป่า ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปิน


โครงการศิลปะในสิ่งแวดล้อมลักษณะนี้ น่าจะเกิดผลดีต่อหลายฝ่าย ทั้งศิลปิน ผู้คนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว ที่มาเยี่ยมชมอุทยานแห่งนี้จำนวนปีละกว่า150,000 คน ในการซาบซึ้งถึงความงามทางศิลปะ และคุณค่าของสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป (Overy, in Davies and Knipe (eds.) 1984:64)

จากข้อมูล และตัวอย่างผลงานศิลปะข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ในประเทศตะวันตกมีการพัฒนาศิลปะที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งศิลปิน และผู้ชม ล้วนมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงกลวิธีในการแสดงออก ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ด้วยการส่งเสริมจินตนาการ และสุนทรียภาพของผู้ชม ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ พัฒนาการสร้างงานศิลปะโดยคำนึงถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนได้รับความนิยมจากศิลปินร่วมสมัยในหลายประเทศทั่วโลก

 

ตัดต่อจาก
เอกสารเรื่อง สุนทรียศาสตร์และศิลปะในสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดย ดร. อภิชาติ พลประเสริฐ

ดาวน์โหลดเวอร์ชั่นเต็ม MS Word 5.23MB ได้ที่

http://www.megaupload.com/?d=UMYWEOO6 หรือ

http://rapidshare.com/files/264049126/Environmental_Art._EDU_Article_Submission.doc.html หรือ

http://sharebee.com/17cd03db

 

ข้อมูลเพิ่มเติม wikipedia: Environmental art

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2009 เวลา 15:25 น.