เสาพระตรีเอกภาพแห่งโอโลมูซ (Holy Trinity Column in Olomouc) พิมพ์
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2009 เวลา 21:04 น.

มนต์เสน่ห์แห่งยุโรปตะวันออก คือ ความงามแห่งอดีตกาลของมหาศรัทธาในสมัยกลางของยุโรป ที่ถ่ายทอดผ่านงานศิลปะ และสถาปัตยกรรมอันลือชื่อ   เสาอนุสรณ์แห่งคริสต์ศาสนา ณ เมืองโอโลมูซ (Olomouc) หนึ่งในเมืองอันเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์เลื่องลือ รองจากกรุงปราก แห่งสาธารณรัฐเชก (Czech Republic) คือ สถานที่ประดิษฐานเสาศูนย์รวมแห่งจิตใจของชาวเชกมานานกว่าสามร้อยปี นั่นคือ “เสาพระตรีเอกภาพ” หรือ “เสาพระตรีเอกภาพอันศักดิ์สิทธิ์แห่งโอโลมูซ” (Holy Trinity Column in Olomouc)

 


“เสาพระตรีเอกภาพ” ตั้งตระหง่านอยู่ ณ ใจกลางเมืองโอโลมูซ เป็นเสาสัญลักษณ์แห่งความเทิดทูนต่อ พระบารมีแห่งพระแม่มารีอา หรือ แม่พระผู้นิรมล (Virgin Mary) สร้างเพื่อแสดงถึงความสำนึกในพระมหาการุณย์ของแม่พระ และความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า ที่ช่วยให้เมืองโอโลมูซ และชาวเชกทั้งปวง รอดพ้นจากกาฬโรค ที่ระบาดและคร่าชีวิตชาวเชกไปมากมายในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18  เป็นเสาแห่งความกตัญญูต่อพระผู้เป็นเจ้า และแม่พระผู้นิรมล ที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันระหว่าง ศิลปิน ประติมากร วิศวกร และช่างผู้มีฝีมือชาวเมืองโอโลมูซมากมาย มาช่วยกันหลอมสร้าง และแกะสลักเสาพระตรีเอกภาพแห่งนี้จนสำเร็จลุล่วงลงได้ โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเสาตั้งแต่ปี ค.ศ.1716 ถึง ค.ศ.1754 นานถึง 38 ปี จึงแล้วเสร็จ ผลที่ตามนั้นก็คือ ความภาคภูมิใจในเสาสัญลักษณ์แห่งความภักดีต่อพระคริสต์ศาสนา และเฉลิมฉลองการรอดพ้นภัยจากโรคระบาด สำหรับชาวเชกแล้ว เสาแห่งนี้คือเครื่องหมายแห่งความรักความสามัคคี ที่พวกเขาพากเพียรกันสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาอย่างแท้จริง และทุ่มเทให้อย่างเต็มกำลัง จนกระทั่งเสาพระตรีเอกภาพกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองโอโลมูซ และสาธารณรัฐเชก ด้วยเหตุนี้ เมื่อปี ค.ศ.2000 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้ “เสาพระตรีเอกภาพ” เป็นมรดกโลก (World Heritage Site) ในฐานะที่เป็นตัวอย่างของการแสดงออกทางสุนทรียศิลป์แบบบาโรกที่งดงาม และยิ่งใหญ่ของทวีปยุโรป

 

ภาพถ่ายด้านบนเสาพระตรีเอกภาพแห่งโอโลมูซ ประติมากรรมยอดด้านบนรูปพระตรีเอกภาพอันศักดิ์สิทธิ์


การก่อสร้างเสาพระตรีเอกภาพ หรือ เสาพระตรีเอกภาพอันศักดิ์สิทธิ์แห่งโอโลมูซ ใช้รูปแบบของศิลปะ และสถาปัตยกรรมแบบบาโรก (Baroque) โดยเลือกใช้ต้นแบบจาก เสาโรมัน ที่จัตุรัส ซานตา มาเรีย มายอเร (Piazza Santa Maria Maggiore) ที่กรุงโรม  โดยการสร้างเสาแห่งนี้ใช้จากเงินบริจาคของประชาชนทั้งหมด และศิลปินผู้สร้างต่างอุทิศแรงกายแรงใจโดยมิได้รับค่าจ้างวานแต่อย่างใด  ในการก่อสร้างเสาพระตรีเอกภาพช่วงแรกนั้น ควบคุมการก่อสร้างโดยฝ่ายสถาปนิกคือ เวนเซล  เรนเดอร์ (Wenzel  Render) และมาสำเร็จลงในช่วงหลังโดย โจฮาน อิคนาซ โรคิสกี้ (Johann Ignaz Rokiky) ส่วนฝ่ายประติมากรนั้นได้แก่ ฟิลิปสส์  แซตเลอร์ (Phillip  Sattler) รับช่วงงานในส่วนหลังจนแล้วเสร็จโดย อันเดรีย ซาห์เนอร์ (Andreas  Zahner)


ลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของเสาพระตรีเอกภาพนั้นก็คือ รายละเอียดอันงดงามวิจิตรบรรจง สร้างจากหินอ่อนคาร์รารา ประดับสำริดเคลือบทองคำในบริเวณส่วนด้านบนคือ บริเวณประติมากรรมแม่พระผู้นิรมล และพระตรีเอกภาพที่ยอดด้านบน


รายละเอียดของเสาพระตรีเอกภาพประกอบไปด้วยสามส่วน ส่วนยอดชั้นบนสุดเป็นประติมากรรมพระตรีเอกภาพอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Trinity)  แสดงออกด้วยสัญลักษณ์แห่งคริสต์ศาสนารูปพระตรีเอกภาพ ได้แก่ พระบิดา (รูปชายชราด้านขวามือ) พระบุตร (รูปพระคริสต์ถือกางเขนด้านซ้าย) และ พระจิตเจ้า (ยอดด้านบนสุดแสดงด้วยรูปของนกพิราบ)  ถัดมาในส่วนกึ่งกลางเสาเป็นประติมากรรมสำริดเคลือบทอง เป็นรูปแม่พระผู้นิรมิล (แม่พระมารีอา) เสด็จขึ้นสู่สรวงสวรรค์ (Assumption of the Virgin) และอัครเทวทูตกาเบรียล (St.Gabrial) ฐานในส่วนแรกใต้ประติมากรรมแม่พระเสด็จขึ้นสู่สรวงสวรรค์ทั้งสี่มุมคือ ประติมากรรมครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ อันได้แก่ นักบุญอันนา (St.Anna)  นักบุญโจอาคิม (St.Joachim) นักบุญโจเซฟ (St.Joseph) และ นักบุญจอห์นแบปติสท์ (St.John the Baptist)

 

ในส่วนชั้นที่สอง ด้านบนเป็นประติมากรรมนูนสูงรูปสี่เหลี่ยม แสดงความหมายถึง พระคุณธรรมทั้งสามประการคือ ความสัตย์ (Faith) ความหวัง (Hope) และ ความรัก (Love) และรูปประติมากรรมเหล่านักบุญอีกห้าองค์    ได้แก่ นักบุญลอเรนซ์ (St.Lawrence)  นักบุญเจอโรม (St.Jerome)นักบุญซีลิล (St.Cyril) นักบุญเมโทรดิอุส (St.Metrodius) นักบุญแบลส (St.Blaise)  นักบุญอดัลเบิร์กแห่งปราก (St.Adalbert of Prague) และ นักบุญจอห์นแห่งเนโปมูธ (St.John of Nepomuk)

 

ประติมากรรมรูปแม่พระเสด็จขึ้นสู่สรวงสวรรค์ นักบุญเจอโรม นักบุญแอนโทนีแห่งเมืองปาดัว


ส่วนชั้นที่สามซึ่งเป็นฐานชั้นล่างสุด ประกอบด้วยประติมากรรมนักบุญทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นเหล่านักบุญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐเชก นักบุญผู้พิทักษ์คุ้มครองแคว้นโบฮีเมียและเมืองโอโลมูซ ได้แก่  นักบุญเมาไรซ์ (St.Maurice)  นักบุญเวนเซสลาส (St.Wenceslas)  นักบุญฟลอเรียน (St.Florian) นักบุญจอห์นแห่งคาปิสทราโน (St.John of Capistrano) นักบุญแอนโทนีแห่งเมืองปาดัว (St.Antrony of Paudua)  นักบุญอโลซิอุสกอนซากา (St.Aloysius Gonzaga) และ นักบุญจอห์น ซาร์คันเดอร์ (St.John Sarkander)


ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งแห่งมหาศรัทธาในเสาพระตรีเอกภาพ ที่ร่ำลือกันมาตราบจนทุกวันนี้ก็คือ เมื่อช่วงปี ค.ศ.1758  กองทัพปรัสเซียได้กรีธาทัพมาปิดล้อมเมืองโอโลมูซ  ทหารฝ่ายปรัสเซียได้ระดมยิงปืนใหญ่เข้าถล่มเมืองโอโลมูซ  สร้างความพินาศเสียหายให้แก่บ้านเรือน และชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่าลูกกระสุนปืนใหญ่ได้ยิงเข้าใส่เสาพระตรีเอกภาพ แต่เสากลับมิได้พังทลายลงแต่อย่างใด  กล่าวกันว่า ชาวเมืองโอโลมูซได้รวมตัวกันเดินขบวนอย่างกล้าหาญ เพื่อวิงวอนให้แม่ทัพฝ่ายปรัสเซียยุติการยิงปืนใหญ่ เพราะเกรงว่าจะทำลายเสาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ลง ซึ่งแม่ทัพปรัสเซียก็ได้ยินยอมตามคำร้องขอ (ซึ่งในทุกวันนี้ยังมีร่องรอย และลูกกระสุนฝังติดอยู่บนเสา เพื่อย้ำเตือนระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น) ทำให้ ณ วันนี้ เสาพระตรีเอกภาพจึงยังคงดำรงอยู่กลางใจเมือง และตั้งมั่นอยู่กลางใจของชาวเมืองโอโลมูซ ตราบปัจจุบัน

 


เรื่องโดย ปิยะแสง  จันทรวงศ์ไพศาล (รุ่น 17) pisaeng@gmail.com
10 August 2009
เรื่องก่อนหน้า เสาอโศก ::  เสาโอเบอลิสก์ดำ :: เสาโอเบอลิสก์ :: เสาปีศาจ :: เสาโทเทม

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะจีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2009 เวลา 17:41 น.