ตุ๊กตามาตรีออซคา (Matryoshka doll) พิมพ์
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันอังคารที่ 06 ตุลาคม 2009 เวลา 00:00 น.

“ตุ๊กตามาตรีออซคา” (Matryoshka doll) หรือในภาษารัสเซียเรียกว่า Матрёшка кукла เป็นคำเรียกลักษณะของตุ๊กตาซ้อนซ่อนตุ๊กตา เนื่องจากภายในตัวตุ๊กตามาตรีออซคา จะมีตุ๊กตาแบบเดียวกันซ่อนอยู่ด้านใน ซ้อนกันเป็นชั้นๆ  เป็นกลุ่มตุ๊กตาที่สร้างขึ้นเป็นชุด ให้มีหลายๆ ขนาด แต่ละขนาดก็จะค่อยๆ เล็กลงมาเรื่อยๆ และทั้งหมดนี้จะบรรจุไว้ภายในตุ๊กตาตัวที่ใหญ่ที่สุดเพียงตัวเดียว  ส่วนใหญ่ข้างในมักมีอยู่ด้วยกันประมาณ 5 ตัว นับเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมพื้นเมืองของรัสเซีย รวมทั้งยังเป็น “ตุ๊กตาสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์พูนสุขของชีวิต” และเป็นของที่ระลึกจากรัสเซียที่รู้จักกันไปทั่วโลก

บางครั้งในภาษารัสเซีย ยังมีผู้เรียกตุ๊กตาชนิดนี้ว่า “ตุ๊กตาบาบัสคา” (Babushka  doll) ซึ่งหมายถึง ตุ๊กตาคุณยาย แต่ทว่าชื่อดังกล่าวนี้ กลับไม่ใคร่มีใครเรียกหากันมากนัก ในขณะเดียวกัน เนื่องจากตุ๊กตามาตรีออซคามีลักษณะคล้ายกับคุณแม่ที่มีลูกๆ ตามมาอีกมากมาย จึงมีคำเรียกในภาษาไทยว่า “ตุ๊กตาแม่ลูกดก”

 

 


ตุ๊กตามาตรีออซคา หรือ “ตุ๊กตาแม่ลูกดก”  แบบมาตรฐานทั่วไปจะมีอยู่ด้วยกัน 5 ตัว

 

ลักษณะของตุ๊กตามาตรีออซคา จะทำมาจากไม้ รูปร่างทรงกระบอก ด้านบนเป็นส่วนศีรษะปลายมน ลำตัวป่องกลาง ส่วนใหญ่แล้ว ตุ๊กตามาตรีออซคาจะไม่มีแขนขายื่นออกมาให้เห็น การสร้างให้เห็นเป็นรูปแขนจึงต้องใช้วิธีการวาด และระบายสีเพิ่มเติมลงไป และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตุ๊กตามาตรีออซคาก็คือ มักจะเป็นรูปของผู้หญิงหน้าตาน่ารัก แต่งกายด้วยชุด ซาราฟาน (Sarafan) ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองประจำชาติของผู้หญิงรัสเซีย  ส่วนบริเวณกลางลำตัวตุ๊กตาจะสามารถเปิดออกได้ เพราะเป็นการสร้างขึ้นมาด้วยการประกบจากไม้ทั้งสองส่วน โดยใช้วิธีบิดเกลียวเปิดตรงส่วนกลางออก  และเมื่อเปิดออกแล้ว ข้างในก็จะมีตุ๊กตามาตรีออซคาในแบบเดียวกัน (แต่มีขนาดที่เล็กกว่า) ซ่อนอยู่ด้านใน  หลังจากนั้น ในทุกๆ ตัวก็จะสามารถบิดเปิดออกได้เช่นเดียวกัน ตัวแล้วตัวเล่า  และในตุ๊กตาตัวสุดท้าย นอกจากจะเป็นตัวที่เล็กที่สุดในกลุ่มแล้ว ตุ๊กตาตัวสุดท้ายนี้จะเป็นตัวทึบตัน และไม่สามารถเปิดออกได้อีก


ประวัติความเป็นมาของตุ๊กตามาตรีออซคา มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า มีบาทหลวงชาวรัสเซียได้นำตุ๊กตาเทพเจ้าญี่ปุ่นมาจากเกาะฮอนชู โดยในตุ๊กตาตัวนั้นมีซ้อนตุ๊กตาตัวอื่นๆ ไว้ภายใน ท่านจึงได้ทดลองสร้างตามแบบอย่างดังกล่าว จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

แต่เรื่องที่มีหลักฐานข้อมูลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับแรงบันดาลใจจากตุ๊กตาของญี่ปุ่นนั้น  ได้แก่เหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ.1890  จิตรกรชาวรัสเซียชื่อว่า เซียเกร์ มาลุยติน (Sergei Maliutin) ได้มีโอกาสเห็นตุ๊กตาไม้แกะสลักจากญี่ปุ่นที่นำมาแสดงนิทรรศการศิลปะในรัสเซีย คือ ตุ๊กตาเทพเจ้า “ฟุกุโระกุจู” (Fukurokuju - 福禄寿) เทพเจ้าแห่งความสุข ผู้เป็น 1 ใน 7 เทพเจ้าแห่งความโชคดี ตามคติความเชื่อแบบญี่ปุ่น เพราะในตัวของตุ๊กตาเทพเจ้าฟุกุโระกุจูนั้น ยังมีกลุ่มตุ๊กตาเทพเจ้าอีก 6 องค์ซ่อนไว้อยู่ภายในเป็นชั้นๆ สร้างความประทับใจและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้แก่ มาลุยติน เป็นอันมาก จนทำให้เขาได้ร่วมมือกับช่างแกะสลักคือ วาร์ซิลี ซเวซดอซกิน (Vasiliy Zvezdochkin) ช่วยกันออกแบบสร้างตุ๊กตาในแบบฉบับรัสเซีย โดยได้ผสมผสานแนวความคิดการทำศิลปะแกะสลักผลแอ๊ปเปิ้ลไม้ รวมเข้ากับการระบายสีสัน และตกแต่งอย่างสวยงามใน ไข่ฟาเบร์เช่ (Fabergé eggs) หรือไข่อีสเตอร์ ที่ประดับตกแต่งอย่างงดงามของรัสเซีย

 


กลุ่มตุ๊กตามาตรีออซคา ในชุด ซาราฟานเ มื่อนำออกมาเรียงกัน

 


ซาราฟาน (Sarafan) ชุดพื้นเมืองประจำชาติของผู้หญิงรัสเซีย


การสร้างตุ๊กตามาตรีออซคาตัวแรกของรัสเซียนั้น  “มาลุยติน” และ “ซเวซดอซกิน” ได้สร้างเป็นรูปตุ๊กตาเด็กผู้หญิงสวมชุดพื้นเมืองซาราฟาน อุ้มไก่ไว้ในอ้อมอก และภายในเด็กผู้หญิงนั้น ซ่อนไว้ด้วยตุ๊กตาเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ อีก 6 ตัว ส่วนตัวสุดท้ายที่เล็กที่สุดเป็นเด็กทารกเพศชายอีก 1 ตัว รวมจำนวนทั้งหมดสามารถเรียงเป็นตุ๊กตาได้จำนวน 8 ตัว เมื่อนำออกแสดงในนิทรรศการการศึกษาแห่งเยาวชนที่ Abramtsevo ได้สร้างชื่อเสียงให้ตุ๊กตาของ มาลุยติน และซเวซดอซกิน โด่งดังไปทั่วรัสเซีย


เนื่องจากตุ๊กตาเด็กผู้หญิงของมาลุยติน และซเวซดอซกิน สวมใส่ในชุดซาราฟาน ทำให้ต่อๆ มาจึงกลายมาเป็นธรรมเนียมในการสร้างเป็นเด็กหญิงในชุดซาราฟานดังกล่าว รวมทั้งชื่อคำว่า “มาตรีโอน่า” (Matryona) เป็นชื่อที่ชาวนาชอบตั้งให้แก่ลูกสาวในแถบชนบท ดังนั้น ในเวลาต่อมาจึงนิยมเรียกตุ๊กตาแบบอย่างนี้ว่า “ตุ๊กตามาตรีออซคา”

 

ปี ค.ศ.1900 มาเรีย มามอนโตวา (Maria Mamontova) ภรรยาของ ซาร์วา มามอนตอฟ (Savva Mamontov) ได้นำตุ๊กตามาตรีออซคาเข้าร่วมแสดงใน นิทรรศการตุ๊กตาโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตุ๊กตามาตรีออซคาได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากนิทรรศการดังกล่าว  ทำให้ในเวลาต่อมา  โรงงานของมามอนโตวาจึงได้ดำเนินการผลิตตุ๊กตามาตรีออซคาออกจำหน่าย และหลังจากนั้นมา ตุ๊กตามาตรีออซคาก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนกระทั่งตราบถึงทุกวันนี้


ปีค.ศ.1918  พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตารัสเซียได้เปิดขึ้นที่เมืองเซียร์กีเยฟ โปซาสต์ (Sergiyev Posad) ซึ่งในมุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เป็นห้องแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับตุ๊กตามาตรีออซคาของ เซียเกร์ มาลุยติน (Sergei Maliutin) ผู้ให้กำเนิดตุ๊กตามาตรีออซคาตัวแรกของรัสเซีย มีบันทึกไว้ว่า ตุ๊กตามาตรีออซคาที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ที่มีจำนวนตุ๊กตาซ้อนไว้อยู่ภายในมากที่สุดนั้นมีถึง 42 ตัว  แต่ทว่า สถิตินี้ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อ ค.ศ.1670 เมื่อมีการสร้างตุ๊กตามาตรีออซคาที่มีจำนวนมากที่สุดเกิดขึ้นที่เมืองเซมิโอโนโว(Semionovo) หรือในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเมืองเซโมร์นอฟ (Semyonov) เพราะได้มีการสร้างตุ๊กตามาตรีออซคาที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกิดขึ้น มีขนาดความสูง 1 เมตร และภายในนั้น เพราะเมื่อนำตุ๊กตาทั้งหมดออกมาเรียงกัน มีจำนวนมากถึง 72 ตัว

 


ตุ๊กตามาตรีออซคา จะมีขนาด และสัดส่วนไล่เรียงกันตั้งแต่ ตัวที่ใหญ่ที่สุด ไปจนถึงตัวที่เล็กที่สุด


ปัจจุบัน ตุ๊กตามาตรีออซคา ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์แห่งตุ๊กตาพื้นเมืองของรัสเซีย  ยังเป็นสินค้าพื้นเมืองที่แพร่หลาย และเป็นที่นิยมไปทั่วโลก โดยมีศูนย์กลางการผลิตตุ๊กตามาตรีออซคาอยู่ที่ เมืองเซียร์กีเยฟ โปซาสต์ (Sergiyev Posad)  เมืองเซโมร์นอฟ (Semyonov) และ เมืองคีรอฟ (Kirov) และเนื่องจากตุ๊กตามาตรีออซคาเป็นที่นิยมกันไปทั่วโลก ทำให้ทุกวันนี้จึงมีการออกแบบให้แตกต่างกันออกไป เช่น ตุ๊กตามาตรีออซคาที่ทำเป็นรูปทรงดารานักร้องในสมัยปัจจุบัน  รูปทรงผู้นำรัสเซีย  รูปทรงตัวละครจากภาพยนตร์ต่างๆ ฯลฯ


อนึ่ง  คำว่า มาตรีออซคา (Matryoshka) ยังมีการใช้เรียกในทฤษฎีการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ที่เรียกกันว่า “ทฤษฎีการทับซ้อน” (Nested doll principle) หรือ “ทฤษฎีมาตรีออซคา” (Matryoshka  principle) อันเป็นหลักการคิดที่อธิบายถึง ความเสมือนของวัตถุที่ซ่อนอยู่ภายใน เป็นการคิดการออกแบบหลายๆ อย่างที่เหมือนๆ กัน บรรจุอยู่ในรูปทรงเดียวกัน มนุษย์สามารถวางแผนการคิดในเชิงซ้อนหลายๆ ชั้น จากสิ่งที่รวมอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน ทำให้ต่อมา หลักการคิดแบบนี้ ยังสามารถนำไปใช้ในการออกแบบสร้างสรรค์การออกแบบโต๊ะที่มีลิ้นชักมากมายเก็บซ่อนอยู่ภายใน ใช้ได้กับการออกแบบเครื่องเรือน และเฟอร์นิเจอร์  รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ  เป็นต้น

 


เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (17)
6 October 2009

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะ จีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์ แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2010 เวลา 00:30 น.