ตุ๊กตาอาคัวบา (Akuaba) พิมพ์
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันพุธที่ 23 กันยายน 2009 เวลา 17:10 น.

“ตุ๊กตาอาคัวบา” (Akuaba doll) เป็นตุ๊กตาแห่งโชครางที่แพร่หลายในทวีปแอฟริกา และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมแอฟริกัน ที่แพร่หลายไปสู่ทั่วทุกมุมโลกในปัจจุบัน ความสำคัญของตุ๊กตาอาคัวบาจึงเป็น “ตุ๊กตาสัญลักษณ์แห่งการขอบุตร”

เพราะเชื่อกันว่า หากมีตุ๊กตาอาคัวบาไว้กับครอบครัวใดที่ไม่มีบุตรสืบสกุล อาคัวบาจะช่วยทำให้ผู้หญิงนั้นมีบุตรได้โดยเร็ววัน หรือ ถ้าหากผู้หญิงคนใดกำลังตั้งครรภ์ ตุ๊กตาอาคัวบาจะช่วยทำให้เธอสามารถคลอดบุตรได้โดยง่าย และไม่ลำบาก กลายเป็น “ตุ๊กตาสัญลักษณ์ให้ผู้หญิงคลอดบุตรได้โดยปลอดภัย” นานวันเข้า ความเชื่อในเรื่องตุ๊กตาอาคัวบาได้แพร่หลายมากขึ้น จึงกลายมาเป็นหนึ่งในความหมายของ “ตุ๊กตาสัญลักษณ์แห่งความโชคดี” ( Symbol of Good luck) สำหรับชาวแอฟริกัน

 


ตุ๊กตาอาคัวบาของเผ่าอาซานติ  สาธารณรัฐกานา  ขนาดสูง 10.5 นิ้ว
จะมีศีรษะใหญ่ๆ  กลมๆ และมีลำตัวยาว
สมบัติของ Nelson A.Rockefeller



ตุ๊กตาอาคัวบามีถิ่นกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐกานา ในภาษาอาคานของกานา (Ghana) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกานั้น  คำว่า อาคัวบา(Akuaba) มีความหมายแปลว่า “ตุ๊กตา” ที่แกะสลักจากไม้ และทาสีดำ ตุ๊กตาอาคัวบาจะมีความสูงประมาณ 8-15 นิ้ว (20-24 เซนติเมตร) มีลำตัวแบน ศีรษะทรงกลมโต ลำตัว และแขนมีรูปร่างคล้ายๆ กากบาท เชื่อกันว่าตุ๊กตาตัวนี้มีพลังอำนาจวิเศษ และสตรีที่ตั้งครรภ์จะนิยมนำตุ๊กตาอาคัวบาพกติดตัวไว้  เพราะมันเป็นเครื่องรางถึงการคลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย และต่อไป เธอจะได้มีลูกน้อยๆ  ที่น่ารักน่าชังในวันข้างหน้า      ส่วนสตรีที่มีฐานะร่ำรวยก็จะนิยมนำตุ๊กตาอาคัวบามาประดับด้วยอัญมณี และนำเพชรพลอยต่างๆ ใส่ไว้ตามลำตัวของตุ๊กตา ในขณะที่สตรีที่ยากจนก็จะใช้เพียงวิธีแกะสลักลวดลายอันประณีตบนใบหน้าของตุ๊กตาแทน และลงสีสันอย่างสวยงามเท่าที่จะกระทำได้แบบง่ายๆ ก็พอ


รูปแบบของตุ๊กตาอาคัวบาจะมีขนาดใหญ่ มีศีรษะโตๆ  รูปกลมๆ และมีใบหน้าแบนๆ มีจุดเด่นที่ลำตัวยาว และมีหน้าอกเล็กๆ (เพราะส่วนใหญ่สร้างให้เป็นรูปของเด็กผู้หญิง) บ้างมีเฉพาะแขน และบ้างมีทั้งแขนขาครบถ้วน ส่วนใหญ่มักมีลูกปัดหรือห่วงวงกลมคล้องรอบคอ และที่สำคัญก็คือ ตุ๊กตาอาคัวบามักมีเส้นด้ายสีแดงคล้องคอหรือแขน-ขาไว้ด้วย  เพราะด้ายแดงตามคติความเชื่อแอฟริกันนั้น เป็นเครื่องหมายถึงความงาม สุขภาพ และความเจริญรุ่งเรือง    งานแกะสลักตุ๊กตาจะสวยงามประณีตหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้แกะสลัก  แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับหญิงชาวกานาแล้ว ความสำคัญของตุ๊กตาอาคัวบาไม่ได้อยู่ที่ราคาหรือความสวยงาม  แต่อยู่ที่ความหมายของมันต่างหาก

 

ในส่วนที่คล้ายคลึงกัน และแตกต่างกันบ้างนั้นก็คือ ตุ๊กตาอาคัวบาของเผ่าอาซานติ (Ashanti) จะเป็นแบบมาตรฐานมีศีรษะกลม ส่วนตุ๊กตาที่สร้างจากเผ่าฟานเต้ (Fante) ทางตอนใต้ของกานามีศีรษะเป็นสี่เหลี่ยม ในขณะที่เผ่าโบโน (Bono) ทางตอนเหนือของเผ่าอาซานติจะสร้างศีรษะเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ไม่ว่าจะแปลกแตกต่างกันอย่างไร ความเชื่อเกี่ยวกับตุ๊กตาอาคัวบาก็เหมือนๆ กัน

 


ตุ๊กตาอาคัวบาด้านซ้าย-ขวา เป็นของเผ่าอาซานติ ตัวตรงกลางเป็นของชนเผ่าฟานเต้

 


สร้อยตุ๊กตาอาคัวบาประยุกต์ทำเป็นเครื่องประดับสำหรับสตรี

 

กำเนิดของตุ๊กตาอาคัวบา มาจากชนเผ่าอาซานติ (Ashanti) หรือ อาซานเต้ (Asante) ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในกานา มีตำนานเรื่องเล่ากันว่าผู้หญิงชาวกานาคนหนึ่งมีชื่อว่านาง อาคัว (Akua) เป็นคนคิดสร้างตุ๊กตาไม้ขึ้นมาตัวหนึ่ง จากคำแนะนำของพระนักบวชรูปหนึ่ง ที่เมตตาสงสารนางอาคัว ในยามตั้งครรภ์นั้น ช่างเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากเสียเหลือเกิน เพราะในสมัยนั้น สิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิงแอฟริกันที่กำลังจะเป็นแม่ ก็คือ การคลอดบุตร อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ว่า การแพทย์ในทวีปแอฟริกายังไม่เจริญ ทำให้มีผู้หญิงหลายคนเสียชีวิตระหว่างคลอดบุตร   เมื่อนางอาคัวได้รับคำแนะนำดังกล่าว จึงได้แกะสลักไม้เป็นรูปตุ๊กตาเท่าเด็กจริงๆ ขึ้นมาตัวหนึ่ง ทุกๆ วันเธอจะอาบน้ำ และแต่งตัวให้กับตุ๊กตาเสมอๆ และรุ่งขึ้นเมื่อไปทำงานในไร่นา เธอก็จะนำมันสะพายไว้บนหลังทุกๆ วันเช่นกัน  จนกระทั่งต่อมาเมื่อถึงกำหนดคลอด เธอก็ได้คลอดบุตรออกมาอย่างปลอดภัย อีกทั้งเป็นเด็กผู้หญิงที่มีหน้าตาน่ารักมาก ทำให้เรื่องราวของนางอาคัวเป็นที่โจษจันกันไปทั่ว จากปากต่อปาก จนกลายเป็นเรื่องที่ร่ำลือโจษขานกันมากขึ้นๆ ไปทั่วหลายชนเผ่าในทวีปแอฟริกา

ว่ากันว่า เมื่อตอนที่เธอกำลังตั้งครรภ์ และปฏิบัติกับตุ๊กตาดังราวกับเด็กทารกจริงๆ  นั้น ชาวบ้านต่างก็คิดว่าเธอบ้าหรือเสียสติไปแล้ว  และพากันล้อเลียนเธอกับตุ๊กตา โดยเรียกตุ๊กตาตัวนั้นว่า “อาคัวบา” (Akua-ba) แปลว่า “ลูกของนางอาคัว”   อย่างไรก็ตาม เมื่ออาคัวบากลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัยสำหรับหญิงมีครรภ์ และเป็นความหมายที่ดีให้เธอกำเนิดบุตรที่น่ารักน่าชัง ตุ๊กตาอาคัวบาก็ได้กลายเป็น “สัญลักษณ์ของความสุขสมบูรณ์ และความสวยความงาม” ไปด้วยจนถึงทุกวันนี้  เพราะเมื่อผู้หญิงชาวกานาตั้งครรภ์เมื่อใด พวกเธอก็จะทำตุ๊กตาไม้อาคัวบา หรือในปัจจุบันก็สามารถซื้อหามาไว้กับตัว  แล้วแบกตุ๊กตาอาคัวบานั้นไว้บนหลัง เหมือนกับแบกทารกไว้เช่นนั้น อันเป็นการกระทำตามแบบอย่างของนางอาคัว นานวันเข้า  สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ได้กลายมาเป็นธรรมเนียมของผู้หญิงชาวกานาสืบมาจนถึงปัจจุบัน




ตุ๊กตาอาคัวบาในปัจจุบัน ได้กลายมาเป็นสินค้าพื้นเมืองของแอฟริกาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก


ผู้หญิงแอฟริกันให้ความสำคัญต่อสุขภาพเมื่อยามตั้งครรภ์มากเป็นพิเศษ เพราะเด็กๆ ที่คลอดมานั้นจะกลายเป็นตัวบ่งชี้ถึงสถานะทางสังคมที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในฐานะของความเป็นแม่   ด้วยเหตุนี้ ตุ๊กตาอาคัวบาจึงถือเป็นสิ่งสำคัญต่อจิตใจมากยิ่งกว่าจะถือของเล่นธรรมดาๆ ตุ๊กตาเหล่านี้จะถูกทำพิธีกรรมจากพระนักบวช ในทุกๆ คืนพวกเธอจะพาตุ๊กตาอาคัวบาไปอาบน้ำให้สะอาดสะอ้านหมดจด และจะค่อยๆ บรรจงวางไว้บนเตียงนอนอย่างทนุถนอม  ธรรมเนียมของแอฟริกันจึงมักพร่ำสอนต่อเด็กผู้หญิงให้ตระหนักถึง ภาระสำคัญของความเป็นแม่ และหากทารกเกิดใหม่เป็นเพศหญิง ตุ๊กตาอาคัวบาก็จะถูกมอบเป็นของขวัญให้เธอเพื่อเป็นเพื่อนเล่น และคอยดูแลมันต่อไป จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อให้เด็กผู้หญิงตระหนักในภาระอันยิ่งใหญ่ของความเป็นแม่


ไม่เพียงแต่ตุ๊กตาอาคัวบาที่แพร่หลายในกลุ่มผู้หญิงชาวแอฟริกัน มันยังได้แพร่หลายความนิยมไปอย่างกว้างขวางสู่ต่างแดน กลายมาเป็นสินค้าพื้นเมืองแอฟริกันที่มีจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตกทั่วๆ ไป ทำให้ความสำคัญของอาคัวบาเป็นที่รู้จักกันในฐานะของสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม และศิลปะพื้นเมืองแอฟริกัน  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงต้องเตือนเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้หญิง (โสด) ที่คิดต้องการจะเป็นเจ้าของตุ๊กตาอาคัวบา  เพราะถ้าหากเธอไม่ได้แต่งงานหรือตั้งครรภ์ ก็ให้ตุ๊กตาอาคัวบาเป็นเพียงสิ่งประดับบ้านในฐานะประติมากรรมไม้ธรรมดาๆ ชิ้นหนึ่งก็พอ  ไม่ต้องปฏิบัติต่ออาคัวบาเหมือนเด็กทารก  เพราะมิเช่นนั้น ความเชื่อที่ว่า ตุ๊กตาอาคัวบาจะนำมาพาบุตรน้อยๆ มาสู่หญิงคนนั้นจะมาเยือนตัวคุณเองในไม่ช้า !

 


ต่างหูรูปตุ๊กตาอาคัวบาสำหรับสุภาพสตรี

 

 


เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (17)
23 September 2009
เรื่องก่อนหน้า ตุ๊กตาดะรุมะ, สิบเสาสัญญลักษณ์

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะจีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 2009 เวลา 17:57 น.