เสาชัยชนะ (The Victory Column) พิมพ์
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2009 เวลา 19:06 น.

“เสาชัยชนะ” หรือ “เสาชัยชนะแห่งเบอร์ลิน” (Berlin Victory Column) หากเรียกในภาษาเยอรมันก็คือ ซีกัสซอยเลอน์ (Siegessäule) นับเป็นเสาอนุสรณ์แห่งชัยชนะที่โด่งดัง และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง ในประเทศเยอรมนีปัจจุบัน มีความสูงทั้งหมดรวม 66.89 เมตร น้ำหนักประมาณ 5,000 ตัน

ความสำคัญของเสาชัยชนะ ไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของเยอรมันในอดีตเท่านั้น  แต่ยังมีความหมายในฐานะ จุดศูนย์กลางของสังคม เป็นจุดรวมของจิตใจ และตั้งตระหง่านอยู่ ณ ใจกลางกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีปัจจุบัน


 


เสาชัยชนะ ศูนย์กลางของสังคมและศูนย์กลางแห่งจิตใจของชาวเยอรมัน

 


จิตรกรรมโมเสกแสดงภาพเหตุการณ์สงครามทั้งสามครั้งบนผนังด้านล่างของตัวเสา


เสาชัยชนะสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1864 เมื่อครั้งที่ประเทศเยอรมนีปัจจุบันยังเป็น ราชอาณาจักรปรัสเซีย (Prussia Kingdom) โดยใช้เวลาในการสร้างเสาแห่งนี้นาน 9 ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1873  โดยมีพิธีเปิดเฉลิมฉลองเสาชัยชนะ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่  2 กันยายน ค.ศ.1873 โดยจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 (Emperor Wilhelm II) โดยมีวัตถุประสงค์ให้เสาแห่งนี้ เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ทั้งสามครั้ง ที่กองทัพปรัสเซียสามารถมีชัยชนะเหนือเดนมาร์ก, ออสเตรีย และ ฝรั่งเศส  อันเป็นจุดเริ่มต้น  ที่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ราชอาณาจักรปรัสเซีย ไปสู่การรวมชาติเยอรมนีกับปรัสเซียเข้าด้วยกัน กลายมาเป็น จักรวรรดิเยอรมัน (German Emperor) เมื่อปี ค.ศ.1871


ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ดังกล่าว มีความสำคัญต่อจิตใจชาวเยอรมันในปัจจุบันมาก เพราะกว่าปรัสเซียจะรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันกับเยอรมันได้สำเร็จนั้น ต้องทำสงครามครั้งใหญ่กับมหาอำนาจทางทหารในสมัยนั้น ถึงสามครั้ง ได้แก่
-  สงครามดานิส – ปรัสเซียน (The Danish – Prussian War) เมื่อ ค.ศ.1864  ปรัสเซียมีชัยชนะเหนือเดนมาร์ก ทำสามารถช่วงชิงแคว้นชเลสวิก-โฮลสไตน์มาครอบครองตามสนธิสัญญาแกลสไตน์
-  สงครามออสโตร – ปรัสเซียน (The Austro – Prussian War) เมื่อ ค.ศ.1866  เมื่อกองทัพปรัสเซียเข้าพิชิตถึงกรุงเวียนนา ทำให้ออสเตรียต้องยอมลงนามสงบศึกตามสนธิสัญญาปราก และหมดอำนาจเหนือปรัสเซียอย่างสิ้นเชิง
-  สงครามฟรังโก – ปรัสเซียน (The Franco – Prussian War) เมื่อ ค.ศ.1871  ปรัสเซียมีชัยชนะเหนือฝรั่งเศส ทำให้พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ถูกขับออกจากบัลลังก์ ทำให้ปรัสเซียบรรลุเป้าหมายในการรวมเข้ากับแคว้นเยอรมนี จนกลายมาเป็น “จักรวรรดิเยอรมัน” ได้สำเร็จ


แต่เดิมนั้น  เสาชัยชนะตั้งอยู่ที่ คอนิกส ปลาซ์ (Königsplatz) หน้าพระราชวังกรุงเบอร์ลิน  ต่อมา ได้ย้ายไปตั้งใหม่ที่ เทียร์การ์เทน (Tiergarten) บริเวณวงเวียนกลางใจเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี  เสาชัยชนะที่มีอายุเก่าแก่ถึง 145 ปีล่วงมาแล้วนี้    ผ่านเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเยอรมันตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็น ราชอาณาจักรปรัสเซีย ไปสู่จักรวรรดิเยอรมัน ก่อนจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ สาธารณรัฐไวมาร์ และสมัยนาซี กระทั่งกลายมาเป็น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในปัจจุบัน  ผ่านช่วงของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเสาชัยชนะยังสามารถดำรงคงอยู่ถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้ถูกทำลายหรือถูกรื้อถอนแต่ประการใด

 


เสาชัยชนะ ( The Victory Column )ในยามราตรี กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี


ลักษณะของการสร้าง เสาชัยชนะ (The Victory Column) ถูกออกแบบให้มีเอกลักษณ์เป็นพิเศษ  โดยการออกแบบของสถาปนิกคือ โจฮาน เฮนริก สแตรค (Johann Heinrich Strack) โดยสร้างฐานชั้นล่างเป็นแท่นหินแกรนิตแดงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมทั้งสี่ด้าน แกะสลักภาพประติมากรรมนูนต่ำ ส่วนด้านบนเป็นโถงรูปทรงกลมสองชั้น วงกลมรอบนอกสร้างเป็นเสาล้อมรอบ วงกลมชั้นในเป็นส่วนล่างของตัวเสา โดยใช้หินแกรนิตแดงเป็นวัสดุในการก่อสร้างทั้งหมด ทำให้เมื่อมองดูโดยรอบจะเห็นว่าเสาชัยชนะเป็นเสาในโทนน้ำตาลแดง   ลำต้นเสามีลักษณะเหมือนเซาะร่องในแนวตั้ง ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นเกิดจากการนำปืนใหญ่ที่ยึดจากศัตรูในสงครามใหญ่ทั้งสามครั้งมาประกอบสร้างขึ้นมา  โดยตัวเสาแบ่งเป็นวงแหวนสี่ชั้น แกะสลักลายด้วยสำริดเคลือบทองเป็นสี่วง  ซึ่งแต่เดิมที่สร้างเสานั้นมีเพียงสามชั้น (ตามเหตุการณ์สงครามทั้งสามครั้ง)  ต่อมา ในสมัยนาซี ฮิตเลอร์ได้สั่งให้มีการสร้างต่อเติมวงแหวนในชั้นที่สี่เพิ่มขึ้นมา เพื่อฉลองชัยต่อการยึดครองออสเตรียได้สำเร็จ เมื่อค.ศ.1938  ทำให้ในปัจจุบัน เสาชัยชนะจึงประกอบไปด้วยวงแหวนทั้งสี่ชั้น

 


ภาพวาดเมื่อปีค.ศ.1900 แสดงที่ตั้งเดิมของเสาชัยชนะหน้าพระราชวังกรุงเบอร์ลิน
(สังเกตให้ดีจะเห็นว่าวงแหวนบนตัวเสาเดิมมีเพียงสามวงเท่านั้น)

 

จุดเด่นที่สำคัญของเสาชัยชนะอีกประการหนึ่งก็คือ ความงดงามของจิตรกรรมด้วยโมเสกกระจกสีรอบๆ บริเวณฐานเสาวงกลมชั้นล่าง ซึ่งจำลองเหตุการณ์สงครามสำคัญทั้งสามครั้งที่เกิดขึ้นในอดีต ภาพจิตรกรรมโมเสกมีความสวยงามคล้ายกับ ภาพที่สร้างขึ้นจากสีน้ำมัน หรือสีเฟรสโก  แต่แท้จริงสร้างประกอบจากโมเสกทั้งสิ้น  โดยจิตรกรรมทั้งหมดนี้มาจากฝีมือฃองศิลปิน อันตอง ฟอน วอเนอร์ (Anton von Werner)


นอกจากนี้ ตรงบริเวณส่วนฐานด้านล่าง ขุดสร้างออกเป็นอุโมงค์ลอดใต้ถนนจำนวนสี่ช่อง เป็นทางเท้าเชื่อมต่อกับพื้นถนนด้านนอกทั้งสี่ทิศ (อุโมงค์ลอดสร้างขึ้นเพิ่มเติมเมื่อ ค.ศ.1941) บริเวณด้านในของเสาเป็นโพรงกลวง สามารถไต่ปีนขึ้นสู่ด้านบนได้ด้วยบันไดวนทั้งหมด 285 ขั้น และเมื่อขึ้นชั้นสูงสุดด้านบน จะสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบกรุงเบอร์ลินได้อย่างชัดเจน


เอกลักษณ์สุดท้ายของเสาชัยชนะแห่งนี้ก็คือ ประติมากรรมสำริดเคลือบทองที่อยู่เบื้องบนเสา เป็นรูปของเทพีวิคตอเรีย (Goddess Victoria) หรือ เทพีแห่งชัยชนะ (Goddess of Victory) ตามตำนานเทพปกรณัมโรมัน (เป็นองค์เดียวกับ “เทพีไนค์” (Goddess Nike) หรือ “ไนกี้” ของกรีก) ประติมากรรมมีขนาดความสูง 8.3 เมตร น้ำหนัก 35 ตัน ปั้นโดยประติมากร เฟรนดิค ดราเก้ ( Friedrich Drake) ประดิษฐานอยู่บนยอดเสาในท่วงท่าประทับยืน ก้าวเท้าไปเบื้องหน้าเล็กน้อย สวมชุดคลุมยาวแบบกรีกโบราณ ด้านหลังแผ่สยายด้วยปีกทั้งสองข้าง พระเศียรสวมมาลารูปนกอินทรี พระหัตถ์ขวายื่นชูไปเบื้องหน้าด้วยวงมงกุฏช่อมะกอก ที่เป็นสัญลักษณ์ของการสวมใส่ให้แก่ผู้ชนะ พระหัตถ์ซ้ายถือคฑาศักดิ์สิทธิ์  ด้วยความสวยงามของประติมากรรมเทพีแห่งชัยชนะที่สอดคล้องกับความหมายของเสาที่จัดสร้างขึ้น ทำให้เสาชัยชนะมีความสมบูรณ์ และสามารถมองเห็นได้เด่นชัดแต่ไกล


ประติมากรรมรูปเทพีแห่งชัยชนะ (Goddess of Victory)

 

แม้ว่าเสาชัยชนะจะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำกรุงเบอร์ลิน แต่กระนั้นก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เสาแห่งนี้เป็นการเชิดชูสงคราม และยกย่องชาติพันธุ์ของตนเองเหนือชนชาติอื่นๆ  อีกทั้งยังมีผู้มองว่า เสาชัยชนะเป็นส่วนหนึ่งของมรดกของนาซีที่หลงเหลืออยู่  แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เสาชัยชนะคือศูนย์รวมจิตใจ และความภาคภูมิใจที่ประวัติศาสตร์เยอรมันต้องจารึกไว้ และรัฐบาลมักใช้เสาแห่งนี้สำหรับจัดพิธีสำคัญๆ อาทิเช่น เมื่อไม่นานมานี้ วันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.2008 ได้มีการจัดสถานที่แห่งนี้สำหรับเป็นที่กล่าวสุนทรพจน์ของบารัค โอบามา ในช่วงระหว่างการรณรงค์หาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยโอบาม่าได้ยืนกล่าวสุนทรพจน์อยู่เบื้องหน้าเสาชัยชนะแห่งนี้ และทำให้ภาพของเสาชัยชนะแพร่ภาพออกไปทั่วโลกเช่นกัน  ในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ของโอบามานั้นได้กล่าวไว้ว่า


“…ด้วยสายตาที่ยังต้องมองไปยังอนาคตในวันหน้า  ปัญหาทุกๆ สิ่ง เราจะต้องแก้ไขด้วยตัวของเราเอง ชักนำให้เรายังต้องจดจำในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับที่เราต้องหาคำตอบให้กับโชคชะตาของเราเอง เพื่อร่วมกันสร้างโลกใหม่ใบนี้ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง…”
และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของความสำคัญของเสาชัยชนะ สัญลักษณ์ที่ชาวเยอรมันทุกคนไม่อาจปฎิเสธ

 


เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (17)
31 August 2009

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะ จีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์ แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2010 เวลา 00:22 น.