ม.ล.จิราธร จิรประวัติ (10) พิมพ์
คนครุศิลป์ (Profile & Quote)
วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2009 เวลา 17:07 น.


พี่โต Artist, illustrator, Teacher

ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีบทบาทในชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโปรดักส์ดีไซเนอร์ ครูสอนชงชา เป็นอาจารย์ด้านโฆษณา เป็น Food Stylist หรือนักจัดอาหาร และทำอาหาร หรือจะเป็น Fashion Stylist, Fashion Designer รวมถึงเป็นครูสอนศิลปะที่มีชื่อ และมีลูกศิษย์เป็นที่ยอมรับของสังคม เขาเขียนหนังสือด้านอาหาร และงานสถาปัตยกรรมมาแล้ว

ม.ล.จิราธรนับได้ว่าเป็นหนึ่งในแวดวงที่เราเรียกเขาว่า celebrity ที่คนในสังคมให้ความสนใจ เชิญไปปรากฏตัว หรือเอาชื่อไปทำงานเกี่ยวศิลปะในแง่มุมต่างๆ ม.ล.จิราธรมีแกนกลางที่เป็น “ศิลปะ” ก่อนที่จะถูกแตกแขนงออกไป โดยใช้ความสามารถส่วนตัวที่เรียกว่าพรสวรรค์ของตัวเองที่มีอยู่

ศิลปะในแง่มุมความคิดของจิราธร จึงเป็นงานที่สัมผัสกับความรู้สึกของคนร่วมสมัย และพึงพอใจกับการใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่


“มันสัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์สำหรับพี่ มันค่อนข้างเป็นคอมเมอร์เชียล การเขียนรูปมันต้องอยู่กับคน การที่เราเขียนรูปเพื่อตัวเราคนเดียวไม่สนใจที่จะขาย แต่ที่สุดเราก็อยากให้คนมาซื้อรูปเรา นึกดูว่า ถ้าคนรุ่นใหม่มีบ้านแบบhabitat แล้วเอารูปตลาดน้ำ ภูเขาทอง รูปวัด มาติด มันก็ไม่เหมาะ คนที่ชอบรูปเพนติ้ง ก็จะเอารูปมาติดที่บ้าน ก็เป็นคนอีกระดับหนึ่ง มันเลยกลายเป็นเรื่อง luxury มันเป็นเทรนด์ในแง่ความร่วมสมัยเข้ากับแฟชั่นไลฟ์สไตล์”

ม.ล.จิราธรจบการศึกษาคณะครุศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเกือบ 25 ปีที่แล้ว “ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร แค่ชอบวาดรูป คงก็มีบุญมั้ง สอบติดที่ตัวเองอยากเรียน ทั้งที่เราไม่ได้เรียนเพาะช่าง หรือช่างศิลป์มา”

วิชา “ภาพประกอบเรื่อง” กลายเป็นแรงบันดาลใจในอาชีพนี้ เขาจึงนำผลงานที่เรียนไปเป็นพอร์ตสมัครงานตามนิตยสารทั้งๆ ที่ยังศึกษาอยู่ โดย “ดิฉัน” เป็นนิตยสารที่รับเขามาเขียนภาพประกอบ เป็นยุคเดียวกับ “ลลนา” หรือ “สกุลไทย” เริ่มใช้ภาพประกอบในนิตยสาร ซึ่งปัจจุบันภาพประกอบเป็นส่วนสำคัญมากในนิตยสารทั่วไป “ตอนนั้นตื่นเต้นมาก เราก็คิดว่าอาชีพนี้มันเก๋ดีนะ ได้วาดรูปแล้วก็ลงตีพิมพ์ด้วย”

ม.ล.จิราธรเริ่มวาดภาพประกอบมาตั้งแต่อายุ 20 ปี อันเป็นบทแรกที่เริ่มกรุยทางให้กับอาชีพในสายศิลปะอื่นๆ จนเรียนจบแล้วเริ่มต้นทำเสื้อผ้า ก่อนที่จะเปิดห้องเสื้อของตัวเองในชื่อ “Chirathorn”

“เพราะแฟชั่นเป็น inspiration ในการเขียนรูปของพี่มาก ไม่ว่าการแต่งหน้า หรือทำผม เวลาเราทำแฟชั่นก็จะได้สีของเสื้อผ้ามา ก็สนุก มันก็ไม่อยู่กับที่เวลาเขียน เพราะแฟชั่นมันเปลี่ยนตลอดเวลา รูปเราก็ทันสมัยตามแฟชั่นและเปลี่ยนไปตลอดเวลา”

“จริงๆ แล้วงานหลักคือทำเสื้อผ้าแต่คนไม่ค่อยรู้ จบปั๊บก็ทำเสื้อเลย ก็มีทั้งเย็บ สั่งตัด ทั้งดีไซน์เอง ทำเสื้อเป็นงานหลัก เราไม่ได้เรียนมาแต่ทำเพราะชอบ ตอนนั้นก็เขียนภาพประกอบไปด้วย”

แม้ว่า ม.ล.จิราธร จะมีอาชีพหลากหลาย แต่การวาดภาพประกอบให้กับนิตยสาร ยังเป็นอาชีพที่เขาทำมาตลอดต่อเนื่อง 25 ปี ปัจจุบันม.ล.จิราธรได้วาดภาพประกอบให้กับนิตยสาร พลอยแกมเพชร, แพรว และเซเว่นทีน ฯลฯ เฉลี่ยเดือนละ 15 ชิ้น

“มันเป็นอาชีพที่เงินน้อยมากจนน่าตกใจ พี่ทำงานนี้มา 25-26 ปี จนเป็นที่ยอมรับของสังคม พี่เขียนตั้งแต่รูปละ 150 บาทในดิฉัน จนเพิ่มเป็น 1,500 บาท แต่ถ้ามองว่าเป็นเรื่องของโปรโมชั่นผลงานแล้ว เดือนหนึ่งพี่วาด 15 หน้า ถ้าพี่ต้องเสียค่าโฆษณาหน้าละ 5 หมื่น 6 หมื่นบาท เดือนหนึ่งจะใช้เงินเท่าไร”

“รูปเราเป็นรูปแนวเพ้อฝัน เป็นรูปที่คนไทยจะเขียนสไตล์นี้น้อยมาก จะเป็นรูปการ์ตูนก็ไม่ใช่การ์ตูนซะทีเดียว ศิลปินคนไทยไม่ค่อยวาดสไตล์นี้ เมื่อดูแล้วจะแฮปปี้กับมัน สีสันสดใส ดูแล้วมีความสุข เหมือนตัวเอง เพราะพี่เป็นคนมีความสุข”

โดยเฉพาะเมื่อม.ล.จิราธรได้รับการยอมรับในฐานะมืออาชีพด้านภาพประกอบ และมีผลงานที่ต่อเนื่องยาวนาน การทำงานที่เกี่ยวพันกับศิลปะในหลายสาขาของเขา ก่อนหน้าที่เขาจะได้ร่วมงานกับ 124 Communication บริษัทดูแลด้าน PR advertising ทำให้การสร้างเสน่ห์ของ “ศิลปะ” เป็นอีกกลไกหนึ่งเพื่อใช้ลงไปในการสื่อสารสู่กลุ่มลูกค้าขนาดเล็กที่นิยม ความมีระดับในงานอีเวนต์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

“แต่ก่อนมันไม่ได้เป็นอย่างนี้ แล้วโลกมันก็หมุนไป ทำให้มีงานตลอด ใครจ้างมา รักกันก็ไป ประมาณสองสามปีนี้ อยู่ดีๆ มันก็ชุกเลย พี่ว่าคนที่ทำแบบนี้มันคงหายาก แล้วเราไปพูดอะไรให้คนสนุกขึ้นด้วย” สิ่งนี้ทำให้การทำงานโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินค้าแบรนด์เนม หรือที่ต้องการความถนัดในการใช้สายสัมพันธ์กับกลุ่มคนชนชั้นสูง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้านิชมาร์เก็ตในบ้านเรา ยังสอดคล้องกับความสามารถที่หลากหลายของม.ล.จิราธร

โดยเฉพาะเมื่อคราวที่สินค้า Au bon pain ปรับเปลี่ยนลุคมาเพื่อขยายเข้าสู่ธุรกิจ catering ด้วยการวางคอนเซ็ปต์ “Catering With Style” ม.ล.จิราธรเองก็ถูกใช้เป็นกลไกหนึ่งเพื่อสื่อสาร positioning นี้ออกไป ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบแพ็กเกจ หรือการใช้สีสัน หรือโต๊ะอาหารที่ดูต่างออกไป

หรือคราวที่ AIS จัดโปรแกรมสำหรับลูกค้าชั้นยอดเป็นกลุ่มราว 20 คน ให้ม.ล.จิราธรสอนวิธีการชงชาแบบอังกฤษ กับ “Advance hideaway in style” ก่อนที่จะพบว่าวิธีการดูแลลูกค้ากลุ่มนิชระดับบนด้วยศิลปะและไลฟ์สไตล์ แบบต่างๆ ด้วยแบรนด์ “Serenade” ในเวลาต่อมา

“พี่มีงานเยอะมาก ทุกอย่างเนี่ยเบสออนอาร์ตหมดเลย มันคือไลฟ์สไตล์ ทุกอย่างมันมาจากวิชาศิลปะ อย่าง composition (การจัดวางองค์ประกอบ) ก็เป็นพื้นฐานสำหรับทุกอย่าง กว้างคูณยาว การจัดวาง เส้น สี เท็กเจอร์ ความรู้สึก แล้วมันเอาไปทำอะไรรอบตัวได้ทุกอย่าง”

การทำงานที่ผ่านการบ่มมาระยะเวลานาน จนถึงจุดๆ หนึ่ง ที่คลี่คลายความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จนงานเขียนภาพประกอบถูกนำไปใช้ในโปรดักส์ดีไซน์ เป็นการต่อยอดเพิ่มขึ้น “พี่ก็ว่ามันถึงเวลาแล้วด้วย เนื่องจากพี่เป็นคนที่มีคนติดตามผลงานเยอะ แล้วงานพี่เนี่ยก็เหมาะเอาไปทำโปรดักส์ แล้วคนรุ่นใหม่ก็ชอบเพราะว่าไม่มีใครทำ”

ในขณะที่ม.ล.จิราธรเขียนรูปประกอบจนเป็นอาชีพมาระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะ สร้างโนฮาวและถ่ายทอดความสามารถไปสู่กลุ่มลูกศิษย์ จนมีหลายคนที่ก้าวขึ้นมาวาดภาพประกอบเป็นอาชีพไม่ว่าจะเป็น ภัทรีดา ประสานทอง, นวลตอง ประสานทอง, สมนึก คลังนอก หรือ นวลพรรณ โอสถานนท์ รวมบุคคลที่รู้จักมีชื่อเสียง ก็เข้ามาเรียนวาดรูปในสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเองจากม.ล.จิราธร เป็นอีกบทบาทของเขาในฐานะครูสอนศิลปะ

“เราไม่ได้สอนให้คนเป็นอาร์ทิส แต่สอนให้คนมีงานอดิเรก ส่วนจะเป็นอาร์ทิสหรือไม่ ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้น ก็เป็นเส้นที่ข้ามยากเหมือนกัน ถ้าได้แล้วพี่ก็จะสอนอีกอย่างหนึ่ง”

ม.ล.จิราธรจึงเป็นเสมือนหนึ่งในผู้ที่จุดกระแส “ป๊อปอาร์ต” ให้เกิดขึ้น ด้วยสไตล์การวาดที่เป็นกึ่งการ์ตูนเพ้อฝัน งานของเขาเป็นจุดเริ่มต้นทำให้คนนิยมคำว่า “ศิลปะร่วมสมัย” มากขึ้น โดยเฉพาะเขาได้กลายเป็นต้นแบบการสร้างอาชีพนักวาดภาพประกอบให้กลายเป็น ศิลปินที่สังคมให้ความสนใจ

“งานพี่คงเป็นป๊อบอาร์ตร่วมสมัย แต่แปลกที่ไม่ค่อยมีคนไทยวาดรูปสไตล์พี่เลย... พี่ไม่อยากเป็นสกุลช่าง ไม่อยากให้เหมือนจิราธร สำหรับลูกศิษย์พี่ เวลาพี่สอนใครหรือปั้นใคร พี่อยากดึงเขาในความเป็นเขามากที่สุด อยากให้เรามีอิทธิพลต่อเขาน้อยที่สุด เหมือนพี่เป็นหลักให้น้องๆ อาร์ทิสหลายๆ คน พี่ดีใจเพราะพี่สร้างอาชีพให้คนพอสมควร อย่างแป้ง (ภัทรีดา ประสานทอง) ก็วาดภาพประกอบเป็นอาชีพอย่างเดียว”

หลายคนที่มาเรียนกับเขาส่วนใหญ่ไม่เคยเรียนทางด้านศิลปะมาก่อน แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาเหล่านี้กลับสามารถยึดเป็นอาชีพ โดยมีพื้นที่ยืนในสังคม และงานก็เป็นที่ยอมรับ “ถ้าคุณทำได้มันก็ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนมา คนเรียนศิลปะอาจจะเชยก็ได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เรียนศิลปะจะดูดีขึ้นมา คุณเห็นบางคนที่มาเขียนรูปแล้วกลายเป็นช่างฝีมือซะเยอะ เพราะคนที่เขียนตามใครมักจะไม่เกิด ในฟิลด์นี้สไตล์เป็นสิ่งสำคัญมาก”

“อย่างมาหาพี่แล้วได้เลย สมมุติว่าถ้าหนังสือคุณอยากได้ภาพประกอบ มาหาพี่ พี่ก็จะหานักเรียนวาดให้” ม.ล.จิราธรจึงเป็นเหมือนคอนเนกชั่น และการอ้างอิงชั้นดีในหมู่นักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่

“แต่ขายความเป็นตัวเองยังไงแล้วได้ตังค์ มันยากนะ ไม่ใช่ว่าทุกคนจบศิลปะมาแล้วจะวาดรูปได้ คือเอากระดาษเปล่าแล้วดินสอมาแท่งหนึ่ง บอกว่าจะทำอะไรก็ได้ให้มันเป็นตัวคุณ มันยากนะ ต่อให้บางคนเรียนศิลปะมาแล้ว ให้วาดอะไรมาก็ได้ให้เป็นตัวคุณ ไม่ใช่เกิดมาแล้วเรียน 2 เดือน หรือ 3 ปี แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสมมาแล้วตั้งแต่เล็กแต่น้อย” ม.ล.จิราธรกล่าว

อย่างเพื่อนที่เป็นศิลปินจบศิลปากรมา ก็เคยมาบอกว่า “ทำไมมันดูง่ายแล้วขายดีอย่างนี้” เพื่อนที่เป็นอาจารย์ศิลปากรเห็นแล้วเคยบอกว่า “เหมือนเซลส์ผักเลย” เพราะมีคนซื้อเยอะ (หัวเราะ) แต่พี่ก็ไม่โกรธนะ เพราะพี่ไม่อยากขายให้สูงมาก แต่อยากให้ได้ไปอยู่ที่ไหนๆ อยากให้คนเสพศิลปะแล้วหาซื้อได้ง่ายๆ

“เคยมีคนที่เป็นเพียวอาร์ทิส เขาจะบอกว่า Illustration เนี่ยเป็นคอมเมอร์เชียลดีไซน์ แต่สำหรับพี่ ถ้ามันไปอยู่กับเรื่องก็เป็นภาพประกอบเรื่อง มันก็กลายเป็นคอมเมอร์เชียล แต่ถ้าแยกออกไปดูเดี่ยวๆ ดูกว้างคูณยาวของมัน มันก็มีควอลิตี้ของรูปไฟน์อาร์ตเหมือนกัน”

เมื่อพูดถึงที่มาและความเป็นม.ล.จิราธรในทุกวันนี้ เขาค่อนข้างให้เครดิตกับภาพประกอบอยู่มาก “เขียนภาพประกอบทำให้ได้พีอาร์เยอะ... ไม่รู้ คิดว่าคงมาถูกทางมั้ง (หัวเราะ) แล้วมันก็คลี่คลายไปของมัน” จนกลายเป็นการต่อยอดไปเรื่อยๆ จนนำไปสู่ position ที่เขาเป็นในปัจจุบัน

“อาร์ตเป็นพื้นฐานสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับพี่ และเป็นแกนกลางสำหรับศิลปะการดำรงชีวิตด้วย อาจจะเป็นเพราะว่าเราเกิดมากับสิ่งแวดล้อมที่เป็นอย่างนี้ด้วย พี่เกิดมาในบ้านที่มีศิลปวัฒนธรรม พี่เกิดในวังบ้านหม้อ เห็นละคร เห็นการทำอาหารที่ประณีต เห็นการจัดดอกไม้ เกิดมาเห็นแล้วค้นคว้าหาต่อด้วย เราเลยเป็นคนชินกับความงาม ทุกอย่างต้องสวย เรื่องมาก จะกินก็ต้องสวย จะอยู่ก็ต้องอยู่ในที่สวย เอื้อจนเป็นตัวตนขึ้น”

“พี่ชอบยกตัวอย่างแบบปีกัสโซ่ประจำ เขาคือคนที่อายุยืนยาว อย่างปีกัสโซ่ก็เริ่มเขียนจากเรียลลิสติก จนเป็นคิวบิซึ่ม พี่ไม่อยากจะเป็นอย่างแวนโก๊ะห์ที่เขียนรูปมาทั้งชีวิตแล้วขายได้รูปเดียว ตายไปแล้วจึงประสบความสำเร็จ”

 

ภาพถ่าย และข้อมูล คัดลอกมาจาก http://www.positioningmag.com/Magazine/Details.aspx?id=30542

ภาพผลงาน จิราธร จาก สูจิบัตรงานครุศิลป์ไตรภาค 2550

ค้นหาข้อมูลโดย หนึ่ง 19

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2009 เวลา 17:14 น.