ตุ๊กตาไดดาลา (Daidala doll) พิมพ์ อีเมล
ปิยะแสง เล่าเรื่อง
วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2009 เวลา 00:28 น.

“ตุ๊กตาไดดาลา” (Daidala doll) เป็นชื่อเรียกตุ๊กตาโบราณของกรีก ซึ่งน่าจะเป็นตุ๊กตาที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่มากที่สุดตัวหนึ่งของโลก  เพราะมีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปมากกว่า 2,800 ปีล่วงมาแล้ว ตุ๊กตาไดดาลาส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นจากไม้แกะสลัก และบ้างก็ทำขึ้นจากดินเผา  มีปรากฎค้นพบตั้งแต่ สมัยอาร์เคอิค (Archaic) ของกรีก  ลักษณะของตุ๊กตาไดดาลาจะมีลักษณะเป็น ประติมากรรมสาวน้อยสวมกระโปรงยาวแบบชาวกรีกโบราณ มีลำคอที่สูงยาว ช่างปั้นมักลงรายละเอียดทั้งส่วนของมือ เท้า และ หน้าอก ตลอดทั้งตัวมักวาดภาพระบายสีลายพร้อย หรือขีดเขียนลายเส้นเรขาคณิตอย่างง่ายๆ รอบๆ ตัวของเธอ แต่ที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษที่สุดก็คือ บนส่วนศีรษะของตุ๊กตาไดดาลาจะมี “สองใบหน้า” !

 


ตุ๊กตาไดดาลา ศิลปะกรีกสมัยอาร์เคอิค ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ ประเทศกรีซ

ประวัติศาสตร์ตุ๊กตาของตะวันตก มีการค้นพบตุ๊กตาไดดาลาดินเผาในสมัยอาร์เคอิคของกรีก ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ (National Archaeological Museum) กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ตุ๊กตาไดดาลาที่พบนี้มีชื่อเรียกว่า  “Athena Glaukopis” หรือก็คือ ประติมากรรมเทพีอเธน่าสองใบหน้า และยังมีความหมายแปลว่า เทพีอเธน่าหน้านกฮูก (“Owl – faced” Athena) นั่นเอง !

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เทพีอเธน่า (Goddess Athena) เป็นเทพีผู้เป็นธิดาที่เกิดจาก มหาเทพซีอุส หรือ ซุส (Zeus) อีกทั้ง อเธน่าไม่เพียงเป็นเทพีแห่งสันติภาพเท่านั้น นางยังเป็นเทพีแห่งภูมิปัญญา และความเฉลียวฉลาด ที่ชาวกรีกโบราณเคารพนับถืออย่างมาก  คำว่า Glaukopis นั้นหมายถึง “นกฮูกจิ๋ว” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของนกฮูกตัวเล็ก  ด้วยเหตุนี้ เทพีอเธน่าจึงมีสมญานามอีกนามหนึ่งว่า เทพีแห่งนกฮูก ( Owl-Goddess ) ทำให้นกฮูกจิ๋วได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของอเธน่า และสิ่งนี้เองที่ทำให้ชาวตะวันตกมีทัศนะที่แตกต่างไปจากชาวตะวันออกโดยสิ้นเชิง เพราะชาวตะวันตกมองว่า นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา และความเฉลียวฉลาด ดังเช่นที่มีปรากฎในการใช้รูปนกฮูก เป็นเครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัยหลายแห่งในยุโรป (รวมทั้งนกฮูกที่ได้กลายมาเป็น สัญลักษณ์สื่อสารประจำตัวของแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ และผองเพื่อน ก็มาจากสาเหตุเดียวกันนี้)


“เทพีอเธน่า ตานกฮูก” (Owl-eyed Goddess)

นกฮูกจิ๋ว  สายพันธุ์ Little Owl Athene noctua

ในมหากาพย์โอดิสซี (Odyssey) มีกล่าวถึงเทพีอเธน่า ได้เคยจำแลงร่างกลายเป็นนกฮูกโบยบินสู่ท้องฟ้า และเรียกพระนางว่า เป็นเทพีผู้เปี่ยมด้วยความชาญฉลาด มีดวงตาสีฟ้าอันเป็นประกายเจิดจรัส (bright-eyed) ดังนั้น ในวรรณกรรมโบราณของตะวันตก จึงมักมีการพูดถึงดวงตาสีฟ้า หรือ สีฟ้า-เทา ของอเธน่า ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งประกายแห่งปัญญา ทำให้อเธน่า และนกฮูก ถูกนำมาใช้พูดถึงรวมกันเสมอ และเรียกอเธน่าว่าเป็น “เทพีตานกฮูก” (Owl-eyed Goddess) ก็เพราะสาเหตุนี้  นอกจากนี้ ยังมีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่กล่าวว่า เทพีอเธน่านั้นไม่ใช่ธิดาที่เกิดจากเทพซีอุส หากแต่เป็นธิดาของเทพแห่งท้องทะเลโพไซดอน (Poseidon) ดังนั้น จึงทำให้อเธน่ามีดวงตาเป็นสีฟ้าดั่งน้ำทะเล

หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งที่ยืนยันถึงนกฮูกซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอเธน่านั้นก็คือ “เหรียญโบราณของนครเอเธนส์” (ชื่อคำว่า “เอเธนส์” (Athens) ก็มาจากชื่อของอเธน่า  รวมทั้งมหาวิหารพาร์เธนอนบนเนินอโครโปลิส ก็สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพอเธน่าเช่นกัน) เพราะบนเหรียญเงินสมัยกรีกในนครเอเธนส์ ด้านหน้า(ด้านหัว) เป็นรูปของเทพีอเธน่า ส่วนด้านหลัง(ด้านก้อย) เป็นรูปนกฮูก

ดังนั้น ย่อมประจักษ์ให้เห็นถึงที่มา และความสำคัญของเทพีอเธน่า และดวงตานกฮูก สัญลักษณ์แห่งหญิงผู้เปี่ยมด้วยภูมิปัญญา และความเฉลียวฉลาด ทำให้หญิงสาวชาวกรีกนิยมเก็บรูปเคารพ หรือประติมากรรมรูปเทพีอเธน่าไว้กับตัว และต่อมา ได้พัฒนาประติมากรรมรูปอเธน่าจนกลายไปเป็นรูปปั้นตุ๊กตาที่เรียกกันว่า “ ตุ๊กตาไดดาลา” (Daidala doll)


ภาพจินตนาการ “เทพีอเธน่า”

เหรียญโบราณของนครเอเธนส์

 

“ตุ๊กตาไดดาลาแห่งอเธน่าสองใบหน้า” (Daidala of Athena Glaukopis) ไม่เพียงใช้เป็นตัวแทนในการรำลึกถึงเทพีอเธน่า  ยังเกี่ยวโยงสัมพันธ์ไปถึง เทศกาลโบราณของกรีกที่เรียกกันว่า “เทศกาลไดดาลา” (Daidala festival or Daedala festival) ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี (บางแห่งระบุว่าเป็น 7 ปี) และทุกๆ 59 ปี ก็จะเฉลิมฉลองครั้งใหญ่เรียกกันว่า “เทศกาลไดดาลาครั้งใหญ่” (Great Daidala festival) โดยในเทศกาลนี้ จะแกะสลักตุ๊กตาไม้เป็นรูปเทพีอเธน่า เรียกกันว่า “ตุ๊กตาไดดาลาสองหน้า” หรือ “ตุ๊กตาไดดาลาแห่งอเธน่าสองใบหน้า” และตุ๊กตาไดดาลานี้ยังมีความหมายอันลึกซึ้ง เพราะเป็นตุ๊กตาแห่งความปรองดอง หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นตุ๊กตาแห่งความคืนดี ระหว่างชายและหญิง ที่แสดงออกซึ่งกันและกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ตุ๊กตาไดดาลาที่มาจากรูปอเธน่าสองใบหน้า ไม่ได้ใช้เพื่อบูชาเทพีอเธน่าแต่อย่างใด แต่กลับใช้ในการสรรเสริญพระเกียรติของเทพีฮีรา (Goddess Hera) ผู้เป็นมเหสีของเทพซีอุส  ตามตำนานเล่าขานกันว่า พระนางฮีราทรงเบื่อหน่ายต่อพฤติกรรมความเจ้าชู้ของพระสวามี (เทพซีอุส) และยังริษยาในเทพีอเธน่า ธิดาคนโปรดของเทพซีอุสเป็นอย่างมาก  จึงทรงย้ายหนีไปยัง โบลเธีย (Boeotia) และตั้งสัตย์ว่าจะไม่หวนย้อนกลับไปหาเทพซีอุสอีกเลย  ยังความกลัดกลุ้มพระทัยให้แก่เทพซีอุสมาก ต่อมา เจ้านครคีเธรอน(Kithaeron) จึงแนะนำวิธีดีๆ ให้ซีอุสหาทางคืนดีกับพระนางฮีรา โดยการลวงว่า ซีอุสจะจัดพิธีอภิเษกสมรสครั้งใหม่  ดังนั้น จึงได้มีการสร้างตุ๊กตาหญิงงามที่นำมาจากรูปของเทพีอเธน่า ทำด้วยไม้แกะสลักและตั้งชื่อให้ว่า “ไดดาลา” (Daidala) โดยให้แต่งตัวตุ๊กตาไดดาลาให้เป็นเจ้าสาวคนใหม่และซ่อนไว้ภายในเกวียน จากนั้นก็แห่แหนอย่างเอิกเกริกไปตามรายทาง  ข่าวคราวนี้ล่วงรู้ไปถึงพระนางฮีรา ด้วยความหึงหวง นางจึงรีบรุดมาสกัดขวางทางพิธีแห่ และหวังจะทำลายขบวนเจ้าสาว แต่เมื่อปรากฎว่าเป็นความเข้าใจผิดเพราะด้านในเป็นเพียงตุ๊กตาไม้เท่านั้น ทำให้เทพีฮีราเกิดความละอายพระทัย และยอมคืนดีกับเทพซีอุส จากนั้นมา ขบวนแห่ตุ๊กตาไดดาลาก็จะนำตุ๊กตาไม้ไปเผาให้เป็นเถ้าถ่านต่อไป

ด้วยความที่ตุ๊กตาไดดาลา เป็นตุ๊กตาไม้โบราณของกรีก ดังนั้นเมื่อปี ค.ศ.2004 กรีกได้เป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน จึงได้นำแนวความคิดเรื่องการเฉลิมฉลองทุก 4 ปีของตุ๊กตาไดดาลามาใช้เป็นแนวความคิดในการออกแบบตัวนำโชค (Mascot) เป็นรูป “ตุ๊กตาไดดาลา” อีกทั้งยังสื่อความหมายถึง ความคืนดี ความปรองดอง และความสันติ ตามที่มาของเทศกาลไดดาลา และเทพีอเธน่า ทำให้ตัวนำโชค(Mascot) ในโอลิมปิก 2004 เป็นตัวการ์ตูนไดดาลา (แถมพ่วงด้วยเทพฟีวอส หรือ อะพอลโล มาคู่กัน เป็น Mascot คู่ชายหญิงของเทพ-เทพีองค์สำคัญแห่งโอลิมปัส)


ตัวนำโชค (Mascot) ในโอลิมปิก 2004
ซ้ายคือ อเธน่า (เพศหญิง) ขวาคือ ฟีวอส (เพศชาย)
ต้นแบบจากตุ๊กตาไดดาลา

 


เรื่องโดย ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล (17)
11 November 2009

ผลงานอื่นๆ ของ ปิยะแสง เช่น
หนังสือ 108 สัญญลักษณ์จีน, ศิลปะ จีนสมัยใหม่, มหัศจรรย์ แห่งสัญลักษณ์ เครื่องราง และเคล็ดลับนำโชค (Field Guide to LUCK) ฯลฯ

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2010 เวลา 00:23 น.
 
ลิขสิทธิ์ © 2021 Art-Ed Chula. สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด.
Joomla! เป็นซอฟท์แวร์เสรีภายใต้ลิขสิทธิ์ GNU/GPL License.
เว็บนี้ขับเคลื่อนด้วย จูมล่าลายไทย